ทำความเข้าใจ พรบ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล

  • November 5, 2024

News Description

พรบ. ดิจิทัล

 

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการขับเคลื่อนมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต การประกอบกิจการ งานธุรกิจของภาคประชาชน โดยเครื่องมือสำคัญที่ภาครัฐใช้ผลักดันสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า พรบ. ดิจิทัล

 

 

ความเป็นมาของ พรบ. ดิจิทัล

พรบ. ดิจิทัล หรือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดแนวทาง ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย โดยกำหนดให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดให้มีบริการสาธารณะ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันให้เป็นระบบ ฐานข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และน่าเชื่อถือสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่มาใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบัน พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ศึกษา พรบ. ดิจิทัล ฉบับเต็มได้ที่: https://defund.onde.go.th/th/file/get/file/20211217365012fc2828ea531d71ab1e7cca681d214854.PDF

 

 

ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจาก พรบ. ดิจิทัล

 

e-Payment

 

1. ประชาชนได้รับบริการที่ดี สะดวก และรวดเร็วขึ้น

ประชาชนจะได้รับบริการภาครัฐดิจิทัลที่ดีขึ้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ จัดทำกระบวนการหรือการดำเนินงานทางดิจิทัลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการประชาชน อีกทั้งยังได้ได้รับความสะดวกจากการเข้ารับบริการภาครัฐมากขึ้น จากการให้บริการแบบ เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สนับสนุนการ เชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

 

2. หมดปัญหาเรื่องสำเนาเอกสาร

ประชาชนไม่ต้องมีภาระจัดเตรียมสำเนาเอกสารราชการ ใช้บัตรประชาชนของตนเอง เพียงใบเดียวสามารถติดต่อได้ทุกเรื่อง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องจัดส่งข้อมูลหรือสำเนาเอกสารระหว่างกันเอง เพื่อไม่ให้ต้องเรียกขอสำเนาเอกสารจากประชาชน

 

3. จ่ายค่าบริการสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)

ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการชำระค่าบริการต่าง ๆ จากการให้บริการของ หน่วยงานของรัฐผ่านระบบ e-payment ซึ่งกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ จัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัล ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมค่าบริการ ค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากประชาชน จากการให้บริการภาครัฐ โดยหน่วยงานของรัฐอาจมีข้อตกลงในการจัดเก็บค่าบริการร่วมกับหน่วยงานของรัฐอื่นแทนได้ ด้วย

 

4. ค่าธรรมเนียมในการใช้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลจะลดลงในอนาคต

ในอนาคตประชาชนที่เลือกใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลภาครัฐจะจ่ายค่าธรรมเนียมหรือ ค่าบริการต่าง ๆ ให้แก่หน่วยงานของรัฐในอัตราที่ต่ำลง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอต่อผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับต่าง ๆ ในการพิจารณายกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี

 

 

ประโยชน์ที่หน่วยงานรัฐได้รับจาก พรบ. ดิจิทัล

 

1. เกิดการบูรณาการร่วมกัน และลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐ

หน่วยงานของรัฐจะมีการทำงานที่บูรณาการกันมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้อง เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องกัน รวมทั้งมีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบดิจิทัล

 

2. ลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเกิดความสะดวกและลดภาระในการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากมีการนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริการงานและให้บริการประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรวมทั้ง เกิดการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนสามารถเรียกใช้ข้อมูลภาครัฐที่ถูกจัดเก็บอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมาใช้ เพื่อสนับสนุนการทำงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

 

3. ลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ

พรบ. ดิจิทัล มีวัตถุประสงค์สำคัญข้อหนึ่ง โดยกำหนดให้การบริหารงานและการให้บริการ ภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล จะต้องเป็นไปเพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินความคุ้มค่าของการดำเนินการ รวมทั้งต้องพัฒนาให้มีกลไกการใช้ข้อมูลเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเกิดความสอดคล้องกับแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐด้วย

 

4. เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการพัฒนาหรือยกระดับทักษะด้านดิจิทัล

พรบ. ดิจิทัล กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ ประการหนึ่งในการกำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานและการให้บริการ ภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ขณะเดียวกันยังกำหนดให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการเพื่อยกระดับทักษะความรู้ ความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน

 

5. สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการจากภาครัฐ

ประโยชน์ของการดำเนินการต่าง ๆ เกิดแก่ประชาชน คือ เมื่อได้รับความสะดวกรวดเร็ว ไม่สร้างภาระเกินความจำเป็นจากการบริการภาครัฐ ประชาชนเกิดความพึงพอใจ และเกิดความรู้สึกที่ดีระหว่าง ภาครัฐในฐานะเป็นผู้ให้บริการ และประชาชนในฐานะผู้รับบริการ

 

 

พัฒนาหน่วยงานรัฐให้สอดคล้องกับ พรบ. ดิจิทัล ด้วย e-Services Platform จาก Ditto

Ditto เป็นที่รู้จักในด้านผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ได้ออกแบบและพัฒนา e-Services Platform เพื่อให้ตอบโจทย์ พรบ. ดิจิทัล ที่มาพร้อมฟีเจอร์การให้บริการที่หลากหลาย ครอบคลุมความต้องการของประชาชนอย่างครบครัน เพียงติดต่อผ่านช่องทาง LINE Official ก็สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

 

อีกทั้งแพลตฟอร์ม e-Services ของเรา ยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอันดับแรก โดยได้รับการรับรองตามมาตรฐานของ Cloud Security Alliance (CSA) ในการประเมินความปลอดภัยของผู้ให้บริการคลาวด์ระดับ self-assessment มีศูนย์ข้อมูลหลัก (DC) และศูนย์สำรองข้อมูล (DR) รวม 4 แห่งในประเทศไทย ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลในระดับภูมิภาค ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการโจรกรรมหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ปกป้องข้อมูลไม่ให้รั่วไหล มั่นใจได้ทั้งภาครัฐและประชน

 

 

สรุป

การผลักดันให้หน่วยงานรัฐสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ นอกจากจะส่งผลประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่แล้ว ยังช่วยให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ไหนก็สามารถติดต่อภาพรัฐได้ผ่านช่องทางออนไลน์ และยังอำนวยความสะดวกสบายด้วยระบบดิจิทัลอย่าง e-payment ที่ทำให้การจ่ายบิลเป็นเรื่องไม่ยุ่งยากและไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง

ดังนั้น การนำระบบ e-Service Platform มาปรับใช้ จึงเป็นหนึ่งตัวช่วยที่จะผลิกโฉมหน่วยงานรัฐให้ก้าวสู่การทำงานแบบดิจิทัลได้เต็มรูปแบบ และสอดคล้องกับ พรบ. ดิจิทัล ที่ต้องการยกระดับหน่วยงานรัฐให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลระบบจัดการเอกสาร เพิ่มเติม

📞 02-517-555

📱063 204 0321

Line ID: @dittothailand