ก่อนที่เราจะไปพูดถึงข้อดีของการมีพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เราไปทำความรู้จักกับพระราชบัญญัตินี้กันก่อน ว่าคืออะไร
ทำความรู้จักกับพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายกลางในการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล และสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ และเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (1) ที่บัญญัติให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับปรับปรุง) กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 กำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงาน การบริการภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัลโดยแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้เอื้อต่อการพัฒนาหน่วยงานของรัฐไปสู่องค์กรดิจิทัล และส่งเสริมให้เกิดระบบข้อมูลดิจิทัลของภาครัฐ ตลอดจนเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
ตัวอย่างสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
- การยื่นคำขอ จ่ายเงิน หรือติดต่อราชการ ประชาชนสามารถทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิเสธไม่รับคำขอนั้นเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มิได้ ยกเว้น การจดทะเบียนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทาง
- การแสดงใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตใดไว้ในที่เปิดเผย ผู้รับอนุญาตจะแสดงใบอนุญาตนั้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และประชาชนสามารถแสดงภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ของใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานที่ต้องพกติดตัวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้
- การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ การติดต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐ และระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายได้
- หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำสำเนาและรับรองความถูกต้องของสำเนานั้นเอง โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน และจะอาศัยเหตุที่ต้องจัดทำสำเนามาเป็นข้ออ้างในความล่าช้ามิได้
- การติดต่อกลับหรือออกเอกสารหลักฐานใด ๆ ของหน่วยงานให้ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีประชาชนยื่นคำขอหรือติดต่อกับหน่วยงานของรัฐโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐติดต่อกลับหรือออกหลักฐานโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ผู้นั้นจะระบุไว้เป็นประการอื่น
ขอบเขตของ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะบังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ยกเว้น
- รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
- หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ
- หน่วยงานของรัฐในฝ่ายตุลาการ
- องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
- องค์กรอัยการ
- หน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง
*** ซึ่งในกรณีที่จะใช้ร่างนี้แก่หน่วยงาน ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น ***
4 ข้อดี ทำไมถึงควรมีพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
- การมี พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตและการบริการ
- พระราชบัญญัตินี้ช่วยสร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการต่าง ๆ ผ่านสื่อดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
- พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล
- การมี พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยปฏิรูปกระบวนทัศน์การทำงาน การให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อให้การปฏิบัติงานโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
อย่างไรก็ตาม การออกพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์นี้นั้น นับว่าเป็นการปฏิรูปกระบวนการทำงานในภาครัฐครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับหน่วยงานภาครัฐเอง รวมถึงประชาชนทั้งหลายด้วย
สอบถามรายละเอียด ระบบระบบจัดการเอกสาร อบต. และ อบจ. เพิ่มเติม
📞 02-517-5555
Line ID: @dittothailand