ในปัจจุบัน สภาพสังคม ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งภาวะโลกร้อน ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมากมาย ทำให้เกิดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพทั้งนานาประเทศทั่วโลก
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มีหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) หากปริมาณของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น นั่นเท่ากับว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะค่อย ๆ สูงขึ้น เพื่อป้องกันและควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของแนวคิด Carbon Footprint หรือ รอยเท้าคาร์บอน
ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ Carbon Footprint ให้มากขึ้น ว่าคืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท และประโยชน์ของCarbon Footprint มีอะไรบ้าง
ทำความรู้จัก Carbon Footprint คืออะไร?
Carbon Footprint – คาร์บอนฟุตพรินต์ เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะเป็นตัวชี้วัดผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน Carbon Footprint คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน โดยจะถูกคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e)
เรียกได้ว่า Carbon Footprint เป็นหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญที่จะประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมต่าง ๆ ว่ามีออกมาเท่าไร ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีตัวช่วยในการแจ้งข้อมูลสำคัญ เช่น ฉลาก Carbon Footprint ที่ติดไว้บนตัวผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
Carbon Footprint มีกี่ประเภท
Carbon Footprint สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
Carbon Footprint ขององค์กร
Carbon Footprint of Organization หรือ CFO หมายถึง ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือหน่วยงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ไฟฟ้าการปล่อยจากกระบวนการซัพพลายเชน การจัดการของเสีย การขนส่ง และการใช้เชื้อเพลิงภายในองค์กร โดยแสดงผลในเชิงปริมาณตัน หรือกิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) สำหรับ Carbon Footprint ขององค์กรสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- Scope 1 หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกิจกรรมขององค์กร เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในการผลิต การปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการผลิต
- Scope 2 หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อนที่ซื้อจากภายนอก เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า พลังงานความร้อนและพลังงานไอน้ำ
- Scope 3 หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมอื่น ๆ ขององค์กรที่ไม่รวมอยู่ใน Scope 1 และ Scope 2 เช่น การขนส่งสินค้า การขนส่งพนักงาน การกำจัดของเสีย
ปริมาณ Carbon Footprint ของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกันไปตามประเภทขององค์กรและกิจกรรมการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น องค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านการผลิต ส่วนใหญ่จะมี Carbon Footprint มากกว่าองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านบริการ เนื่องจากต้องใช้พลังงานในกระบวนการผลิตมากกว่า
Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์
Carbon Footprint of Product หรือ CFP หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน
โดยปกติแล้ว ปริมาณ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์จะแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์และวิธีการผลิต ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น เสื้อผ้าจากผ้าฝ้าย มักมี Carbon Footprint น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบสังเคราะห์อย่างเสื้อผ้าจากพลาสติก หรือในส่วนของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด-พลังงานแสงอาทิตย์ จะมีปริมาณ Carbon Footprint น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้พลังงานฟอสซิล
ในปัจจุบัน ฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์จะแสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ หน่วยที่ใช้วัด เกณฑ์การคำนวณ และวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก Carbon Footprint ได้แก่
- เสื้อผ้า
- อาหารและเครื่องดื่ม
- ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
- ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
- ผลิตภัณฑ์ยานยนต์
การลด Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์สามารถทำได้โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการใช้วัตถุดิบ เช่น ใช้พลังงานสะอาด ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ประโยชน์ของการทำ Carbon Footprint มีอะไรบ้าง
ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างจริงจังมากขึ้น
- ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การวัด Carbon Footprint ช่วยให้องค์กรทราบถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรตนเอง ทำให้องค์กรสามารถระบุและหาวิธีจัดการกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- ข้อมูล Carbon Footprint สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจกำหนดแผน แนวทางการจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพ ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดต้นทุนในด้านพลังงาน ทรัพยากร และทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน
- ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีระดับคาร์บอนต่ำในตลาด โดยการส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์
- ประโยชน์ทางการตลาด ผู้บริโภคเองเริ่มหันมาให้สำคัญต่อสินค้าและบริการที่มีการคำนวณ Carbon Footprint ที่น้อย การประกาศถึงการลด Carbon Footprint สามารถทำให้ตลาดเป็นที่น่าสนใจและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
องค์กรต้องให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint
เพราะฉะนั้นแล้ว องค์กรต้องให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ Carbon Footprint เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งยังช่วยให้องค์กรเห็นภาพรวมของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการระบุแหล่งที่มาหลักของการปล่อยและกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนในด้านพลังงาน ทรัพยากร และวัสดุอีกด้วย
สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด ระบบระบบจัดการเอกสาร อบต. และ อบจ. เพิ่มเติม
📞 02-517-5555
Line ID: @dittothailand