รู้จักคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โอกาสสำคัญของภาคธุรกิจไทย

  • November 23, 2023

News Description

รู้จักคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โอกาสสำคัญของภาคธุรกิจไทย

 

ในยุคที่ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้หลากหลายประเทศทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทย เกิดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยลดปัญหาโลกร้อนและหวังจะจัดการกับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศของตนเองให้มีปริมาณการปล่อยที่ลดลง จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)

 

หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร? และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จะสามารถสร้างโอกาสสำคัญกับภาคธุรกิจของไทยได้อย่างไร? วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในฉบับที่เข้าใจง่าย ๆ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปทำความรู้จักกันเลย!

 

ทำความรู้จักกับ Carbon Credit

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ ส่วนต่างของจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยมาน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งก็คือ ในแต่ละปี แต่ละองค์กรจะมีเกณฑ์กำหนดสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากองค์กรไหนที่มีการปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนต่างที่เหลือจะถูกเรียกว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยสามารถนำมาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) มาตีราคาและจำหน่ายให้แก่องค์กรอื่น ๆ ในภาคอุตสาหกรรมได้

 

Carbon Credit คืออะไร

 

ตลาด Carbon Credit คือ

เมื่อพูดถึงคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) แล้ว คำต่อมาที่ควรรู้จักคือ ตลาด Carbon Credit สิ่งนี้ถูกเรียกได้ว่าเป็นสิ่งคู่กันได้เลย เพราะถ้าหากไม่มีคาร์บอนเครดิตก็จะไม่มีตลาด Carbon Credit นั่นเอง

 

ตลาด Carbon Credit คือ พื้นที่สำหรับการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาดอีกหนึ่งอย่างที่จะช่วยกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมและนำคาร์บอนเครดิตไปจำหน่ายต่อยังองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการ

 

โอกาสทางธุรกิจจาก Carbon Credit

 

ประโยชน์ของตลาด Carbon Credit

สำหรับประโยชน์ของตลาด Carbon Credit จะพบว่า ผู้ประกอบการหรือองค์กรไหนที่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ก็จะสามารถเหลือส่วนต่างในการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จำหน่ายแก่องค์กรอื่น สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิตและยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ทั้งนี้ในส่วนขององค์กรหรือผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่มีกำลังผลิตสูงจำเป็นต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงจำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จากองค์กรอื่น ๆ เพราะถ้าหากไม่ซื้อคาร์บอนเครดิตเพิ่มก็ต้องจ่ายค่าปรับและเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

 

ทำให้เห็นว่ามีหลากหลายองค์กรที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น แถมยังหันมาพัฒนาระบบการผลิตและใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ของตลาด Carbon Credit มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

 

1. ประโยชน์ของตลาด Carbon Credit ระยะสั้น คือ ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ส่งผลให้มีแนวโน้มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง และเกิดกิจกรรมส่งเสริมการปลูกป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น

 

2. ประโยชน์ของตลาด Carbon Credit ระยะยาว คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน และภาคธุรกิจให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากยิ่งขึ้น เกิดการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green & Climate Technology) และคาร์บอนเครดิต มีการขยายการลงทุนกับกลุ่มพลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงภาคเกษตรกรที่จะช่วยส่งเสริมการปลูกป่าในเขตชุมชน เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับการดูดซับคาร์บอนนั่นเอง

 

Carbon Credit เพื่อโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น

 

สรุป

อย่างที่เรารู้กันว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ ส่วนต่างที่เหลือจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้คงเหลือสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสามารถนำคาร์บอนเครดิตเหล่านี้จำหน่ายต่อไปยังองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากกว่าเกณฑ์กำหนด จึงทำให้เกิดตลาด Carbon Credit ที่จะเป็นพื้นที่ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตหรือซื้อสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่ม

 

จะเห็นได้ว่าเมื่อองค์กรไหนเกิดการปรับตัวและวางแผนควบคุมการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่องค์กรนั้น ๆ ในขณะเดียวกันองค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวหรือลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

 

เรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) แต่ในระยะยาวนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้จะทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green & Climate Technology), คาร์บอนเครดิต และการขยายการลงทุนกับกลุ่มพลังงานสะอาด, พลังงานทดแทนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นจนนำไปสู่ Zero-Carbon ได้ในที่สุดนั่นเอง

 

 

สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด ระบบระบบจัดการเอกสาร อบต. และ อบจ. เพิ่มเติม

📞 02-517-5555

Line ID: @dittothailand