ชีวิตการทำงานของคุณเคยพบเจอปัญหาเหล่านี้ไหม? เจอหัวหน้าทีมที่จู้จี้จุกจิก จ้องจะจับผิดในเรื่องการทำงานและอาจลามไปถึงชีวิตส่วนตัว ส่งผลให้รู้สึกเบื่อหน่าย หมดไฟ ไม่อยากทำงาน ซึ่งบางคนอาจมองข้ามการกระทำเหล่านี้เพราะคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่จริง ๆ แล้ว นิสัยเหล่านี้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงาน และทำลายบรรยากาศในการทำงานโดยที่คุณไม่รู้ตัว โดยเราเรียกคนที่มีนิสัยเหล่านี้ว่า “Micromanagement”
หากองค์กรของคุณกำลังพบเจอปัญหาจากการบริหารงานแบบ Micromanagement อยู่ หรือสงสัยว่าคุณกำลังเป็นหัวหน้าทีมที่มีนิสัย Micromanagement หรือไม่? ควรรับมือและแก้ไขอย่างไร? วันนี้เรามีคำตอบมาให้
การบริหารงานแบบ Micromanagement คืออะไร
การบริหารงานแบบจุลภาค หรือ Micromanagement คือ รูปแบบการบริหารงานแบบที่หัวหน้าโฟกัสกับดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ มากเกินไปไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงานของพนักงานแต่ละคน และอาจลามไปเรื่องส่วนตัว โดยการใส่ใจที่มากเกินไปนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่มีส่วนสำคัญในการทำลายบรรยากาศในที่ทำงาน เนื่องจากการจู้จี้มากเกินไปส่งผลให้ทำพนักงานรู้สึกไม่ได้รับความไว้วางใจ และไม่กล้าลงมือทำ ต้องทำงานภายใต้กรอบที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว หน้าที่ของหัวหน้าคือการโฟกัสการทำงานในประเด็นใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกับองค์กร ตรวจสอบความถูกต้องและความผิดพลาด ไม่ควรกดดันพนักงานจนมากเกินไป ชมเชย และสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ
ทำไมจึงมีการบริหารงานแบบ Micromanagement
การบริการงานด้วยนิสัยแบบ Micromanagement ที่จู้จี้ กดดัน และสร้างบรรยากาศแย่ ๆ ในทีม อาจมีสาเหตุมาจากความไม่ไว้วางใจของหัวหน้าที่มีต่อลูกน้อง กลัวการเกิดความผิดพลาด จึงทำให้เริ่มบงการทุกคนให้ทำงานในแบบที่ตนเองต้องการ โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้
Micromanagement จากการไม่ไว้วางใจเพื่อนร่วมงาน
หัวหน้าที่ใช้วิธีการจัดการแบบ Micromanagement มักเกิดจากความไม่ไว้วางใจในตัวพนักงาน เมื่อหัวหน้าไม่เชื่อมั่นในความสามารถของทีม ก็จะเกิดความรู้สึกว่าตนเองนั้นเก่งกว่า อาวุโสกว่า และมีตำแหน่งที่สูงกว่า เกิดการบังคับให้ทุกคนทำตามแนวทางของตัวเอง ซึ่งหัวหน้าที่มีความคิดแบบนี้มักจะโยนความผิดให้กับตัวพนักงานเมื่อผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แทนที่จะมองว่าอาจจะเป็นปัญหาจากกระบวนการทำงานที่บกพร่อง
Micromanagement จากการกลัวความผิดพลาด
หัวหน้าที่เพิ่งได้รับตำแหน่งใหม่มีแนวโน้มที่จะตกหลุมพรางของ Micromanagement ได้ง่ายที่สุด เนื่องจากพวกเขายังขาดประสบการณ์และข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ การคอยควบคุมดูแลในทุกรายละเอียดจึงดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เมื่อการกำกับดูแลกลายเป็นการจ้องจับผิดมากจนเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อทั้งองค์กรโดยรวมและพนักงานแต่ละคนได้ในท้ายที่สุด
Micromanagement จากความคาดหวังที่มากเกินไป
การบริหารแบบ Micromanagement ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้นำที่วางใจในทีมงานสูงเช่นกัน เนื่องจากพวกเขามีความเชื่อมั่นว่าพนักงานจะทำงานได้ตามมาตรฐาน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทุกอย่างก็จะวนกลับเข้าสู่วงจรเดิม ๆ นั่นคือ ความเครียดที่เพิ่มพูนและความพยายามที่จะควบคุมคนที่อยู่ภายใต้การดูแลในทุกขั้นตอน ในที่สุดวิธีนี้ก็จะพาไปสู่ความล้มเหลวด้านการบริหารเช่นเดิม
การบริหารงานแบบ Micromanagement ส่งผลเสียอย่างไรต่อองค์กร
การมีหัวหน้าที่คอยจู้จี้ จุกจี้ เอาแต่จะจ้องจะจับผิดลูกน้องด้วยนิสัยแบบ Micromanagement ทำให้ไม่มีพนักงานคนไหนพอใจและอยากทำงานด้วยแน่นอน ในหัวข้อนี้เราจคงรวบรวมข้อเสียของการบริหารงานแบบ Micromanagement มาให้ดูกัน
ทำให้พนักงานเครียดจนไม่อยากมาทำงาน
หากผู้นำทีมเป็นผู้ที่จู้จี้จุกจิกและหมั่นสร้างความกดดันให้เกิดขึ้นภายในทีมอยู่เสมอ เมื่อพนักงานสะสมความเครียดจนถึงขีดสุด อาจส่งผลให้เขาทำตัวเป็นปฏิปักษ์หรือต่อต้านกับหัวหน้าทีมได้ สุดท้ายก็ลงเอยที่การยื่นใบลาออกเพราะไม่สามารถทนต่อไปได้
พนักงานถูกตีกรอบความสามารถ
การเข้ามีส่วนร่วมในทุกอย่างของหัวหน้าตามนิสัยแบบ Micromanagement อาจเป็นอุปสรรคต่อการเสนอไอเดีย การกล้าแสดงออก หรือความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานได้ เมื่อพวกเขาไม่กล้าก็จะส่งให้ลูกทีมนั่งทำงานไปวัน ๆ แบบตามหน้าที่ หรืออาจเกิดอาการ Quite Quitting ได้ และไม่กล้าการเสนอไอเดียทั้งที่พวกเขาเองก็อยากจะแสดงศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่
ทำลายบรรยากาศภายในทีม
การทำงานในทุก ๆ วัน ทั้งงานที่เร่งด่วนหรืองานที่ต้องใช้สมาธิ รวมไปถึงจำนวนงานที่ถาโถมเข้ามา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการก่อให้เกิดความเครียดแก่พนักงานอยู่แล้ว หากต้องเจอการบริหารของหัวหน้าแบบ Micromanagement เข้าสมทบอีก ก็จะยิ่งทำให้พนักงานเครียดกันไปแบบทวีคูณ ส่งผลให้บรรยากาศภายในทีมอึมครึมไปด้วย เกิดความกดดัน และไม่อยากทำงานร่วมกันในที่สุด
แล้วเราจะแก้ปัญหา Micromanagement ได้อย่างไร
อีกหนึ่งรูปแบบวิธีการบริหารที่เรียกได้ว่าอาจจะตรงข้ามกับ Micromanagement แบบสุดขั้วเลยก็ว่าได้ เพราะ Macromanagement หรือการบริหารแบบมหภาค จะเป็นการบริหารที่ให้ความสำคัญกับภาพรวม โดยเป็นการบริหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ ซึ่งหัวหน้าที่ใช้วิธีการบริหารสไตล์นี้ มักจะไม่ค่อยเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของลูกน้องมากนัก แต่จะพุ่งเป้าไปที่ภาพรวมหรือผลลัพธ์ของการทำงานมากกว่า ให้อิสระแก่ลูกน้องในทีม มอบความไว้ใจในการทำงานอย่างเต็มที่ ปล่อยให้พวกเขาได้ลองคิดตัวเอง ลงมือทำเอง หรือเสนอไอเดียได้อย่างอิสระ
เปลี่ยนนิสัยแบบ Micromanagement เพื่อการทำงานที่ดีขึ้น
สำหรับหัวหน้าที่บริหารงานด้วยนิสัยแบบ Micromanagement นับเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ต้องขอโบกมือลา เพราะไม่สามารถทนต่อความเครียดและแรงกดดันที่มีอยู่ได้ และต่อให้มีพนักงานใหม่เข้ามาก็อาจส่งผลลัพธ์แบบเดิมคือการลาออก ดังนั้น การปรับเปลี่ยนนิสัยในการทำงานให้ตอบโจทย์การทำงานของทีมจึงเป็นเรื่องที่หัวหน้าควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเราได้รวบรวมวิธีที่จะช่วยให้คุณไม่เป็นหัวหน้าที่บริหารงานแบบ Micromanagement มาฝากกัน
1. รับฟังความคิดเห็นของพนักงาน
หัวหน้าควรเป็นผู้ฟังที่ดี เปิดรับความคิดเห็นของพนักงานทุกคน เมื่อลูกน้องต้องการคำปรึกษาหรืออยากแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ไม่ควรที่จะเล่าเรื่องของตัวเองมากจนเกินไป และหากพนักงานต้องการเสนอแนะถึงแนวทางต่าง ๆ ในการทำงาน หัวหน้าควรเปิดใจรับฟังฟีดแบคเพื่อนำมาพัฒนาการทำงานของทีมให้ดียิ่งขึ้น
2. กำหนดเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจน
การคาดหวังมากจนเกินไปก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการบริหารงานแบบ Micromanagement ดังนั้น หัวหน้าควรกำหนดเป้าหมายและขอบเขตการทำงานของพนักงานให้แน่ชัด เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจตรงกันว่าแผนงานนี้มีการดำเนินงานอย่างไรและสามารถทำงานได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
3. มอบความเชื่อใจให้กับพนักงาน
การให้ความเชื่อใจกับพนักงาน ปล่อยให้พวกเขามีอิสระทางความคิด เปิดกว้างรับฟังไอเดียต่าง ๆ เป็นสิ่งที่หัวหน้าควรทำเป็นอย่างมาก เพราะพนักงานทุกคนต่างมีความสามารถและศักยภาพที่พร้อมใช้งาน หัวหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนให้พวกเขากล้าคิด กล้าทำ และรู้จักแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่จู้จี้กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และมองผลลัพธ์ภาพรวม จะทำให้พนักงานมีความมั่นใจในการทำงาน และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มความสามารถ
4. เรียนรู้ความผิดพลาด
ความผิดพลาด เป็นหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ การทำงาน หัวหน้าจึงควรทำความเข้าใจว่าการมีข้อผิดพลาดคือเรื่องปกติ ต่อให้จะพยายามมากแค่ไหน หรือวางแผนมาดีแค่ไหน ความผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้ การเรียนรู้ความผิดพลาด ยอมรับ แก้ไข และได้พบเจอกับแง่มุมใหม่ ๆ ในการทำงาน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทำงานแบบ Micromanagement ในอนาคต
สรุป การบริหารงานแบบ Micromanagement
โดยสรุปแล้ว การบริการงานแบบ Micromanagement เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการลาออกในที่ทำงาน และทำลายบรรยากาศการทำงานภายในทีมให้แย่ลง ผู้ที่เป็นหัวหน้าจึงควรสังเกตว่าตนเองกำลังมีพฤติกรรมเหล่านี้กับพนักงานหรือไม่ เพื่อหาทางออกในการปรับเปลี่ยนวิธีบริหาร เรียนรู้ ยอมรับความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น รับฟังความคิดเห็น เพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรของคุณ
ติดต่อสอบถามข้อมูลระบบจัดการเอกสาร เพิ่มเติม
📞 02-517-555
📱063 204 0321
Line ID: @dittothailand