หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็เกิดคำถามและฉงนใจว่าคำนี้มีความหมายและสำคัญอย่างไรในปัจจุบัน
การจะเข้าใจความหมายว่า Circular Economy คืออะไรอย่างลึกซึ้ง ต้องมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาสักเล็กน้อย จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเราถูกครอบงำโดยเศรษฐกิจแบบเส้นตรง หรือ Linear Economy สินค้าผลิตจากวัสดุในโรงงาน ก่อนถูกนำออกจำหน่ายให้ผู้บริโภคใช้งาน หลังจากนั้นก็เผาทิ้งกลายเป็นขยะ
ในขณะเดียวกันจำนวนประชากรทั่วโลกก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นที่แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการตระหนักว่าการดำเนินเศรษฐกิจในลักษณะนี้ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของแนวคิด Circular Economy
Circular Economy คือ
แนวคิด Circular Economy คือการมุ่งเน้นให้ภาคเศรษฐกิจใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมถึงมีเป้าหมายที่จะลดเสียและจำนวนขยะทั่วโลก โดยสนับสนุนให้คิดค้นวัสดุ ผลิตภัณฑ์ และระบบที่เหนือขั้นกว่าแบบเดิมเพื่อเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการผลิตและบริโภคทางเดียวให้เป็น Circular Economy ที่ลดการใช้วัสดุและทรัพยากรให้น้อยลง ตลอดจนนำ “ของเสีย” กลับมาเป็นทรัพยากรในการผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่
หนทางการสร้าง Circular Economy คือแนวทางที่ยั่งยืนและจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ ตั้งแต่ภาคส่วนธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจขนาดใหญ่ องค์กร บุคคล องค์กรท้องถิ่นไปจนถึงระดับสากลโลก โดยใจความสำคัญของ Circular Economy ตั้งอยู่บนพื้นฐานสามประการ ดังนี้
- การกำจัดของเสียและมลพิษ ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกทำงานเป็นระบบแบบ Take Make Waste หรือ ถลุง ผลิต และจบด้วยการทิ้งกลายเป็นขยะ ซึ่งการทำงานของระบบลักษณะนี้จะไม่สามารถอยู่ได้ในระยะยาวเนื่องจากทรัพยากรบนโลกเรามีจำกัด ดังนั้น Circular Economy คือการเน้นให้มีการออกแบบวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีกครั้งเมื่อสิ้นสุดการใช้งานเพื่อไม่ให้หลงเหลือขยะในธรรมชาติ
- การหมุนเวียนผลิตภัณฑ์และวัสดุ เป็นการรักษาให้มีการใช้งานวัสดุและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีความคุ้มค่าสูงสุด แบ่งออกเป็นการหมุนเวียนเชิงเทคนิค ได้แก่ การใช้ซ้ำ ซ่อมแซม รีไซเคิล และการหมุนเวียนทางชีวภาพ อาทิ การทำปุ๋ยหมัก สามารถนำมาใช้ในการเกษตร ปลูกพืชและนำผลผลิตมาผลิตเป็นอาหารต่อไป
- การฟื้นฟูธรรมชาติ สนับสนุนให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ปฏิรูปการทำการเกษตรที่ช่วยฟื้นฟูดินขึ้นมาใหม่และเพิ่มความหลากลายทางชีวภาพ
Circular vs Recycling vs Linear Economy ต่างกันอย่างไร
ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง หรือ Linear Economy เป็นการนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิตเพื่อใช้งานและจบด้วยการทำลายทิ้งกลายเป็นขยะ โดยที่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะไม่ถูกนำกลับมาดัดแปลงหรือใช้ซ้ำอีก การทำงานของ Linear Economy ส่งผลให้เกิดมลพิษ ธรรมชาติเสื่อมโทรม สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
จากผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นของ Linear Economy ทำให้เกิดแนวคิด Circular Economy ขึ้นมา รูปแบบเศรษฐกิจทั้งสองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง Linear Economy เน้นถลุง ผลิต และทำลายทิ้ง แต่ Circular Economy คือการสนับสนุนให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อขจัดขยะของเสียออกจากภาคเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด
ส่วน Recycling Economy แม้จะมีความใกล้เคียงกับ Circular Economy แต่มีวิธีการที่แตกต่างกัน โดยการรีไซเคิลจะเน้นให้นำขยะที่ถูกทิ้งมาดัดแปลงเพื่อใช้ซ้ำอีกครั้ง แต่ Circular Economy จะมุ่งเน้นให้ทบทวนตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและผลิตให้มีความยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
จะเห็นได้ว่า Linear Economy ให้ความสำคัญกับการทำกำไรเป็นหลักผ่านการสร้างมูลค่าการผลิตและการขายจำนวนมาก ในทางกลับกัน Circular Economy และ Recycling Economy ผลักดันให้เกิดความยั่งยืนตลอดอายุของผลิตภัณฑ์ด้วยการนำกลับมาซ่อมแซม ปรับปรุง ใช้ซ้ำ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอายุที่ยาวนานขึ้น
ทำไมหลายบริษัทในปัจจุบันถึงให้ความสำคัญกับ Circular Economy
โมเดล Circular Economy ไม่เพียงแค่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการสร้างของเสียทำลายธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในปัจจุบันในการผลักดันให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่รักษ์โลกและช่วยประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืนทางธรรมชาติที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ การจะก้าวไปสู่ Circular Economy ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีความทนทานมากขึ้น สามารถนำมารีไซเคิลได้ง่าย และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จะสามารถถูกดึงกลับมาดัดแปลงเพื่อใช้ซ้ำได้อีกครั้ง
ตัวอย่างธุรกิจประสบความสำเร็จในการทำ Circular Economy
หลายบริษัทได้กลายเป็นผู้บุกเบิกของการนำ Circular Economy มาปรับใช้ โดยการพัฒนา Green and Climate Technology เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ ขณะที่ไม่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติและช่วยลดของเสีย ซึ่งนับว่าเป็นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่างแบรนด์ดังระดับโลกที่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับ Circular Economy คือ แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งชื่อดังสัญชาติอเมริกันอย่าง Pantagonia ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการแฟชั่นที่สนับสนุนความยั่งยืน โดยนำวัสดุธรรมชาติมาผลิตเป็นอุปกรณ์โต้คลื่นและชุดดำน้ำ ซึ่งช่วยลดการใช้นีโอพรีนที่เป็นวัสดุจากปิโตรเลียม
สำหรับในประเทศไทย บริษัท Ditto นับเป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามโมเดล Circular Economy โดย Ditto และบริษัทย่อยได้มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Green & Climate Technology) รวมถึงร่วมมือกับภาครัฐในโครงการป่าชายเลนเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน
การเปลี่ยนแปลงจาก Linear Economy ไปสู่ Circular Economy ไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green & Climate Technology
โมเดล Circular Economy จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจ โดย Circular Economy จะเป็นทางออกด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของโลกและเป็นตัวปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจ ผลักดันให้เกิดการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีความทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน และไม่ทำลายธรรมชาติของโลกในระยะยาว
ติดต่อสอบถามข้อมูลระบบจัดการเอกสาร เพิ่มเติม
📞 02-517-555
📱063 204 0321
Line ID: @dittothailand