จับตา 7 วิกฤตสิ่งแวดล้อมในปี 2024 ที่ทุกองค์กรทั่วโลกควรร่วมมือแก้ไข

  • August 22, 2024

News Description

วิกฤตสิ่งแวดล้อม

 

หลายคนคงสังเกตได้ว่าทุกวันนี้ โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ทั้งอากาศที่แปรปรวนแบบสุดขั้ว การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งบนโลกเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยที่เราอาจไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล หากเรายังไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหาและผลักดันแนวทางต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริง ในอนาคตอาจเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบหนักเกินกว่าที่จะแก้ และเกิดการสูญเสียเกินกว่าที่จะคาดการณ์

เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้มากขึ้น เราได้รวบรวม 7 วิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ควรจับตามอง มาให้ศึกษาไปพร้อมกันในบทความนี้

 

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม

วิกฤตสิ่งแวดล้อมมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นมาจากการสะสมของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น

 

1. การเพิ่มขึ้นของประชากร

เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็พุ่งตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่เพาะปลูก แหล่งอาหาร น้ำ พลังงาน และแร่ธาตุต่าง ๆ เมื่อทรัพยากรที่มีจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการ มนุษย์จึงหันไปบุกรุกทำลายธรรมชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศและเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างคาดไม่ถึง

 

2. การเติบโตทางเศรษฐกิจ

ภายใต้กระแสการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพราะมนุษย์มีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้นตามมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น เช่น การมีรถยนต์ส่วนตัวหลายคันต่อครัวเรือน ซึ่งนำมาสู่ปัญหามลพิษทางอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน นอกจากนี้ ความต้องการใช้ทรัพยากรด้านอื่น ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การใช้น้ำปริมาณมาก ล้วนส่งผลกระทบต่อการเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น เพราะมีการนำไปใช้อย่างไม่ยั่งยืนและไม่มีการสร้างขึ้นมาทดแทน

 

3. การพัฒนาของเทคโนโลยี

เทคโนโลยีอันทันสมัยเอื้อให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการผลิต รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งก่อให้เกิดสารพิษตกค้างปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ จนกลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมทางน้ำที่ยากต่อการแก้ไข

 

4. ภัยทางธรรมชาติ

ภัยธรรมชาติอย่าง ไฟป่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว และการปะทุของภูเขาไฟ ล้วนสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล แม้ว่าวิกฤตสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่การกระทำของมนุษย์บางอย่างก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงยิ่งขึ้น

 

 

7 วิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่ควรจับตามอง

 

1. ภาวะโลกร้อน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง

 

นักวิทยาศาสตร์จาก Copernicus Climate Change Service (c3s) แห่งสหภาพยุโรป คาดว่าปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์ ตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุของการเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้จาก การเพิ่มขึ้นของประชากร การทำอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในด้านสุขภาพและวิถีชีวิต รวมไปถึงกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น พายุโซนร้อน พายุเฮอริเคน คลื่นความร้อน และน้ำท่วม เป็นต้น

 

ซึ่งภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อทั่วทั้งโลก ทำให้หน่วยงานหรือองค์กรระดับโลกกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโลกร้อนก่อนที่จะสายเกินแก้ เช่น การใช้พลังงานทดแทนมาใช้แทนน้ำมันและเชื้อเพลิง, การใช้กลยุทธ์ Carbon Neutral และ Net Zero เพื่อควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

 

 

2. พื้นที่สีเขียวลดน้อยลง

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากธรรมชาติ

 

โครงการ Global Forest Watch จากสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) ได้บันทึกตัวเลขล่าสุดไว้ว่า ในทุกนาทีจะมีการตัดไม้ทำลายป่าขนาดเท่าสนามฟุตบอล 10 สนาม ภายในปี 2030 โลกอาจมีพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งประมาณหนึ่งในสามของการตัดไม้ทำลายป่าเขตร้อนทั่วโลกเกิดขึ้นในป่าอเมซอนของประเทศบราซิล ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ 1.5 ล้านเฮกตาร์ในแต่ละปี (ประมาณ 9,375,000 ไร่)

 

โดยข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเผยว่าจากปี 2023 ถึงปี 2024 มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยมากถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2022 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ คิดเป็น 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ “101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%” ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมากที่สุดในรอบ 10 ปี

 

หากมนุษย์ยังไม่หยุดการตัดไม้ทำลายป่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้อาจทำให้ทุกอย่างอาจหายไปภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี ถึงในปัจจุบันจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่พยายามจะปกป้องพื้นที่ป่าไม้ แต่การตัดไม้ทำลายป่าที่อยู่นอกเหนือกฎหมายยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย

 

 

3. ปัญหาขยะพลาสติก

ขยะพลาสติก

 

รายงานจากวารสารวิทยาศาสตร์ Nature เผยว่าปัจจุบันมีพลาสติกประมาณ 14 ล้านตัน ไหลลงสู่มหาสมุทรทุกปี ซึ่งเป็นอันตรายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร การวิจัยพบว่าหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ วิกฤตสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 29 ล้านเมตริกตันต่อปีภายในปี 2040 หากเรารวมไมโครพลาสติกเข้าไป ปริมาณพลาสติกสะสมในมหาสมุทรอาจสูงถึง 600 ล้านตันภายในปี 2040

 

ในขณะที่ National Geographic พบว่า 91% ของพลาสติกทั้งหมดที่เคยผลิตมานั้นไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของเราเท่านั้น แต่ยังถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมอีกด้วย เนื่องจากพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายถึง 400 ปี จึงต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนจนกว่ามันจะหมดไป

อ่านเพิ่มเติม: พลาสติกที่ใช้อาจกำลังกลับมาทำร้ายคุณ มาดู 7 ผลกระทบของขยะพลาสติกที่มีต่อโลก

 

 

4. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

การสูญพันธุ์

 

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การบริโภคของมนุษย์ ประชากร เศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มนุษยชาติใช้ทรัพยากรของโลกมากกว่าที่จะสามารถเติมเต็มได้ตามธรรมชาติ รายงานของ WWF ปี 2020 พบว่าจำนวนประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ลดลงโดยเฉลี่ยถึง 68% ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ แต่โดยหลัก ๆ แล้วเกิดจากการเปลี่ยนแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น ป่า ทุ่งหญ้า และป่าชายเลน ให้เป็นระบบเกษตรกรรม สัตว์ต่าง ๆ เช่น ตัวลิ่น ฉลาม และม้าน้ำ ได้รับผลกระทบจากการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย

 

และจากการวิเคราะห์ล่าสุดพบว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ของสัตว์ป่าบนโลกอาจจะกำลังมาถึง สัตว์บกมากกว่า 500 สายพันธุ์ใกล้จะสูญพันธุ์และมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ภายใน 20 ปี เช่น ในทวีปแอนตาร์กติกา การละลายของน้ำแข็งในทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเพนกวินจักรพรรดิ และอาจกวาดล้างประชากรทั้งหมดภายในปี 2100 ตามการวิจัยในปี 2023 ซึ่งเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล

 

 

5. ปัญหาขยะอาหาร

Food Waste

 

หนึ่งในสามของอาหารที่มีไว้สำหรับการบริโภคของมนุษย์ (ประมาณ 1.3 พันล้านตัน) ถูกทิ้งไปปริมาณมากเพียงพอที่จะเลี้ยงคนได้ 3 พันล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ต่อปี

 

การสูญเสียอาหารเกิดขึ้นในกระบวนการต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว ในประเทศกำลังพัฒนา ขยะอาหาร (Food Waste) 40% เกิดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป ในขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว 40% ของขยะอาหารเกิดขึ้นจากร้านค้าปลีกและผู้บริโภค เช่น ในสหรัฐอเมริกามีการทิ้งขยะอาหารในมากกว่า 50% ด้วยเหตุผลที่ว่า อาหารที่ขายไม่หมดต้องทิ้งเพื่อความปลอดภัยและรักษามาตรฐานของอาหาร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 60 ล้านตันของผักและผลไม้ ซึ่งนำไปสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อมความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้น เราควรช่วยกันลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการซื้ออาหารในปริมาณเท่าที่จำเป็น และช่วยกันแยกขยะตามแนวคิด Zero Waste เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการกำจัดขยะแต่ละประเภทได้อย่างถูกวิธี

 

 

6. มลพิษทางน้ำ

มลพิษทางน้ำ

 

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อพื้นผิวเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกรดในมหาสมุทรอีกด้วย เนื่องจากมหาสมุทรของเราดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 30% ที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่สูงขึ้นจะถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดจนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เช่น อัตราการเกิดไฟป่าที่เพิ่มขึ้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับกลับลงสู่ทะเลก็เช่นกัน

 

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในระดับ pH อาจมีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนของสารเคมีที่ถูกลอบทิ้งลงทะเล ทั้งขยะพลาสติก, สารปรอท, ปิโตรเลียม และขยะอันตราย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเป็นกรดของมหาสมุทร ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศและสายพันธุ์ทางทะเล รวมถึงสายใยอาหาร และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพที่อยู่อาศัยอย่างถาวร เมื่อระดับ pH ต่ำเกินไป สิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น หอยนางรม เปลือกหอย และโครงกระดูกอาจเริ่มละลายได้ จึงเป็นหนึ่งในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง

 

 

7. มลพิษทางอากาศ

มลพิษทางอากาศ

 

วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือมลพิษทางอากาศ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่ามีคนประมาณ 4.2 ถึง 7 ล้านคนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกทุกปี และ 9 ใน 10 คนสูดอากาศที่มีมลพิษในระดับสูงในแอฟริกามีผู้เสียชีวิต 258,000 รายจากมลพิษทางอากาศภายนอกอาคารในปี 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 164,000 รายในปี 1990

ตามข้อมูลจาก UNICEF สาเหตุของมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่มาจากแหล่งอุตสาหกรรมและยานยนต์ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ชีวมวลและคุณภาพอากาศที่ไม่ดีเนื่องจากพายุฝุ่น ซึ่งในฐานะองค์กรเราสามารถช่วยกันลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยการนำกลยุทธ์ Decarbonization และ Carbon Credit มาปรับใช้กับอุตสาหกรรมการผลิต

 

 

สรุป วิกฤตสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่าสาเหตุหลักของวิกฤตสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดจากน้ำมือมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งการเพิ่มจำนวนของประชากรโลก การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงต้องอาศัยทั้งมาตรการป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมจากฝีมือมนุษย์ ควบคู่ไปกับการค้นหาวิธีการจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าให้คงอยู่สืบไป

 

ปัจจุบันมีองค์กรชั้นนำมากมายใส่ใจถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Ditto (ดิทโต้) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยการเข้าร่วมเป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization: CALO) ของเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) ทำให้ขยายธุรกิจไปยังโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green & Climate Technology) โดยสนับสนุนชุมชนป่าชายเลนในด้านงบประมาณและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ เพื่อให้ชาวบ้านมีกำลังใจช่วยกันดูแลรักษาป่า นอกจากนี้ เรายังมีโครงการคัดแยกขยะด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ สร้างมูลค่าให้ธุรกิจด้วย Carbon Credit และลดปริมาณขยะได้อย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ถอดรหัส “ดิทโต้” รุกธุรกิจ “คาร์บอนเครดิต” แบบเต็มสูบ